วัดบัลลังก์

พระครูประโชติ  ปัญญากร  (หลวงพ่อคูณ)  เจ้าอาวาสวัดบัลลังก์

บ้านบัลลังก์  หมู่ที่  11  ตำบลบัลลังก์  อำเภอโนนไทย  จังหวัดนครราชสีมา

หลวงพ่อคูณวัดบัลลังก์พระเกจิวิปัสสนาจารย์แห่งเมืองโคราช

หลวงพ่อคูณ วรปญฺโญ หรือพระครูประโชติปัญญากรวัดบัลลังก์ ศิษย์กรรมฐานสายครูบาพรหมมา จ.ลำพูน หลวงปู่โง่น จ.พิจิตร หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ฯลฯ หนึ่งในพระวิปัสสนาจารย์มีความเชี่ยวชาญเป็นที่เลื่องลือจนได้รับการยกย่องว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าแห่งเมืองโคราช

            หลังจากจบประถมปีที่ ๔ ไม่มีโอกาสที่จะเรียนต่อเพราะครอบครัวในเวลานั้นยากจนมาก ประกอบกับบิดามาเสียชีวิต แม่ก็ต้องทำงานหนักขึ้นไปอีกเพื่อเลี้ยงดูน้องๆ ที่ยังอยู่ในวัยที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ในฐานะที่เป็นลูกชายคนโตจึงต้องรับภาระเป็นหัวหน้าครอบครัว เพราะน้องๆ ก็หลายคน ต้องทำไร่ไถนาอยู่หลายปี เมื่อน้องๆ โตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว จึงเดินทางเข้าหางานทำในกรุงเทพฯ ในเวลานั้นไม่เลือกงาน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างขายกาแฟ ขายก๋วยเตี๋ยว ต่อมาไปเป็นช่างเงินช่างทอง โดยทำงานที่กรุงเทพฯ ระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๒๑ เพื่อนำเงินส่งให้ผู้เป็นมารดาไว้ใช้เลี้ยงดูน้อง

           ในที่สุดจึงตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำอยู่ เดินทางกลับบ้านที่จ.นครราชสีมา เพื่อบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๑ ณ อุโบสถวัดหนองกระธาตุ ต.โคกสะอาด อ.หนองแซง จ.สระบุรี มีพระครูผาสุกิจโสภณ เจ้าคณะอำเภอหนองแซง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการขันธ์ อินฺทโชโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “วรปญฺโญ” จำพรรษาแรกที่วัดหนองกระธาตุ ก็พยายามท่องหนังสือสวดมนต์จนจบแล้วเกิดสนใจใคร่จะท่องหนังสือพระปาฏิโมกข์ดูบ้าง เขาว่าเป็นหนังสือที่ท่องยากที่สุด จึงอธิษฐานจิตขอท่องดู ใช้เวลาท่องอยู่สี่เดือนจึงท่องได้จบ

            ด้านการศึกษาพระธรรมวินัยและภาคปฏิบัติภาวนา และธุดงค์พรรษาที่ ๑ สอบนักธรรมตรีได้ที่วัดหนองกระธาตุ จ.สระบุรี พรรษาที่ ๒ ไม่ได้สอบนักธรรม หันไปปฏิบัติพระกรรมฐาน (จำพรรษาที่วัดสุวรรณประสิทธิ์) พรรษาที่ ๓ สอบนักธรรมชั้นโทได้ที่วัดสุวรรณประสิทธิ์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๒๓ พรรษาที่ ๔ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ที่วัดเกาะสีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พ.ศ.๒๕๒๔

            หลังออกพรรษาที่สองแล้ว เข้าอบรมเป็นพระวิปัสสนาจารย์ประจำศูนย์วิปัสสนาเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย (รุ่นที่ ๘) เมื่ออบรมแล้วถูกส่งไปเผยแผ่ที่วัดสำโรงพลัน อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ และคราวออกพรรษาที่ ๔ ก็ไปสอนวิปัสสนาที่วัดป่าเขาเหิบ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เมื่อมีเวลาก็ออกธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เพื่อออกป่าหาความวิเวกพร้อมทั้งแสวงหาพระอาจารย์ที่ทรงคุณธรรมที่สูงขึ้นไป

           เส้นทางเดินธุดงค์ ภาคตะวันออก ตั้งแต่จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายกมาทาง อ.ปากพลี ขึ้นเขาใหญ่ ทะลุออกมา อ.ปากช่อง โดยถือธุดงควัตรคืออยู่โคนไม้ ถือผ้าสามผืน ฉันมื้อเดียว ฉันรวมในบาตร และบิณฑบาตเป็นวัตร ทางภาคเหนือ ตั้งแต่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ลงมาจนถึงเพชรบูรณ์ และชัยภูมิ ทางภาคใต้ถึง จ.นครศรีธรรมราช ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๒๓ แถว อ.ร่อนพิบูล อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี

           เหตุที่หลวงพ่อคูณมาจำพรรษาที่วัดนี้ก็ด้วยเวลานั้นเดินธุดงค์จาก จ.บุรีรัมย์กับเพื่อนภิกษุผ่านมาทาง อ.โนนไทย ซึ่งเป็นถิ่นเกิด จากกันมานานไม่เคยมาเยี่ยมญาติโยมเลย เมื่อญาติโยมเห็นก็ดีใจและนิมนต์ให้อยู่ช่วยพัฒนาวัดที่ใกล้จะร้าง มีเพียงพระหลวงตาอยู่เฝ้าวัดไปวันๆ องค์หรือสององค์เท่านั้น เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมานานแต่ไม่มีใครคิดจะพัฒนาจึงตัดสินใจรับนิมนต์อยู่เพื่อพัฒนาวัดบัลลังก์ตั้งแต่กลางปี ๒๕๒๕

            หลวงพ่อคูณนำศรัทธาญาติโยมเริ่มปรับปรุงศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิสงฆ์ ซื้อที่ขยายวัด ขุดลอกสระวัดเพื่อให้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี สร้างกำแพงวัด สร้างซุ้มประตูวัด สร้างพระพุทธรูป สร้างพิพิธภัณฑ์เก็บของโบราณที่ขุดพบได้บริเวณวัดและที่ต่างๆ จนกลายเป็นวัดที่สมบูรณ์ด้านศาสนาสถาน และศาสนทายาท

 

ข่าว ณ วันที่ 20 ต.ค. 63 เวลา 13:26 น. โดย ทต.บัลลังก์